กรมพัฒน์ฯ เปิดเคล็ดลับบริหารธุรกิจโลจิสติกส์บนโลกออนไลน์

กรมพัฒน์ฯ เปิดเคล็ดลับบริหารธุรกิจโลจิสติกส์บนโลกออนไลน์ ช่วยผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่ e-Logistics

พร้อมเรียนรู้และทำความเข้าใจตลาดเชิงลึก รับมือรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเคล็ดลับการบริหารธุรกิจโลจิสติกส์บนโลกออนไลน์ หลังพบพฤติกรรมผู้บริโภคใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง ทำให้เกิดการโยกกิจกรรมบนโลกปกติมาอยู่บนโลกออนไลน์ เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ปรับตัวเข้าสู่ e-Logistics ได้เร็ว พร้อมเปิดทางให้นักธุรกิจหน้าใหม่ที่มีความชำนาญการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น ผู้ประกอบการในห่วงโซ่ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์…หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจต้องออกจากตลาดไป ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยมีความดุเดือดมากขึ้น

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก กอรปกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการโยกกิจกรรมบนโลกปกติมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น คนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของการใช้เวลาภายใน 1 วัน ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงให้ความสำคัญและหันมาประกอบธุรกิจ/ทำการตลาดบนโลกออนไลน์มากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล ปี 2563 ของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ที่ภาคธุรกิจมีการใช้งบประมาณซื้อสื่อโฆษณาดิจิทัลมูลค่าสูงถึง 21,058 ล้านบาท อีกทั้ง แนวโน้มผู้ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นกลุ่มคนที่มีอายุน้อยมากขึ้น คือ กลุ่มเจนวายและเจนซี ทำให้การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์จึงมีความหลากหลายและครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคได้กว้างเพิ่มขึ้น รูปแบบการทำธุรกิจจึงเกิดการผสมผสานระหว่างช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้กำหนดแผนการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจฯ เพื่อรองรับการค้าออนไลน์ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเตรียมจัดกิจกรรมให้ความรู้หลักสูตร โลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าในโลกออนไลน์ โดยสาระสำคัญจะเน้นเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุค New Normal การเพิ่มศักยภาพธุรกิจด้วยเทคโนโลยีให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า กลยุทธ์และเทคนิคการลดต้นทุน การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ และเทคนิคการเปิดตลาดใหม่เพื่อขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น เป็นต้น โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร ทั้งนี้ กิจกรรมฯ ดังกล่าว จะดำเนินการทันทีหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564) ประเทศไทยมีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ จำนวนทั้งสิ้น 29,360 ราย แบ่งเป็น การขนส่งทางบกและระบบท่อลำเลียง 21,216 ราย (ร้อยละ 72.27) ตัวแทนออกของ 4,093 ราย (ร้อยละ 13.94) การบริหารจัดการเกี่ยวกับสินค้า 1,432 ราย (ร้อยละ 4.88) คลังสินค้า 860 ราย (ร้อยละ 2.93) การขนส่งทางน้ำ 721 ราย (ร้อยละ 2.46) การขนถ่ายสินค้า 684 ราย (ร้อยละ 2.31) การขนส่งทางอากาศ 209 ราย (ร้อยละ 0.72) ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและอื่นๆ 145 ราย (ร้อยละ 0.49)

ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ

 

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.